ประวัติบริษัท

นายโกศล ปังศรีวงศ์ เป็นผู้ก่อตั้ง บริษัทบี.เอ็ล.ฮั้ว จำกัด เมื่อ พ.ศ. 2466 เพื่อดำเนินกิจการจำหน่ายยารักษาโรคแผนปัจจุบันจากยุโรป และอเมริกา นำเข้าเคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ เป็นตัวแทนจำหน่ายยาต่างประเทศที่มีคุณภาพเป็นที่เชื่อถือในวงการแพทย์ จากอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกาโดยบริษัทมีตำรับยาที่คิดค้นขึ้นเอง และจ้างโรงงานต่างประเทศผลิตภายใต้ ชื่อของบริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว จำกัด

นายโกศล ปังศรีวงศ์

โรงงานบริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว จำกัด ได้รับการวางรากฐานและพัฒนาการผลิต จากภก.ดร.เกษม ปังศรีวงศ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ในแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ สอนนิสิตเภสัชฯ ตั้งแต่่ พ.ศ. 2479 และร่วมกับคณาจารย์ ท่านอื่นๆ ในการผลักดันให้ขยายหลักสูตรการศึกษาเภสัชศาสตร์ จากประกาศนียบัตร(3ปี) เป็นปริญญาบัตร (4ปี) และพัฒนาสถานศึกษาจากห้องเรียนเล็กๆ สองห้องที่อยู่ติดกับห้องผสมยาและจ่ายยาของโรงพยาบาลศิริราช เป็นอาคารเรียนของแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ในบริเวณของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภก.ดร.เกษม เป็นเภสัชกรไทยท่านแรกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากต่างประเทศโดยได้รับปริญญา Master of Science in Pharmacy จาก Philadelphia College of Pharmacy and Science ในปี พ.ศ. 2483

ภก.ดร.เกษม รับตำแหน่งนายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เป็นท่านที่ 6 ในปี พ.ศ. 2489 ท่าน ริเริ่มให้มีการจัดการอบรมผู้เกี่ยวข้องกับวงการยาให้มีความรู้ทางวิชาชีพเภสัชกรรมและออกหนังสือ "เภสัชกรรม" ที่ได้ว่างเว้นมานาน

ท่านได้รับพระราชทานปริญญาเภสัชศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ ในปี พ.ศ. 2497 เนื่องจากความทุ่มเทให้กับวิชาชีพเภสัชกรรมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ภก.ดร.เกษมประสบความสำเร็จในการเชิญชวน บริษัท เมอร์ค ชาร์พ แอนด์ โดห์ม (ประเทศไทย) จำกัด ให้ก่อตั้งโรงงานผลิตยาในประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2502 ซึ่งนับเป็นโรงงานแห่งแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

ท่านได้ร่วมก่อตั้งสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) และได้รับเลือกเป็นนายกสมาคม TPMA ท่านแรก ในปี พ.ศ. 2512

เพื่อให้วิชาชีพเภสัชกรได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น ท่านได้เข้าไปช่วยงานสมาคมต่างๆโดยเป็นกรรมการกลางสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2494 - 2519 และรับตำแหน่งอุปนายกสมาคมปราบวัณโรคฯ ระหว่าง พ.ศ. 2503 - 2507

นอกจากนี้ ท่านได้เข้าไปช่วยงานมูลนิธิวิจัยประสาท ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ในปี พ.ศ. 2507 โดยดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิฯ มากกว่า 10 สมัย